รหัสอบรม:
โครงการอบรมเรื่อง การตรวจสอบภาชนะรับความดันหลังจากเริ่มใช้งาน รุ่นที่ 1
ระหว่างวันที่ 7 – 9 พฤศจิกายน 2562
ณ ห้องประชุม อาคาร วสท.
จัดโดย คณะอนุกรรมการระบบไอน้ำ หม้อน้ำและภาชนะรับความดัน
ในคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ
ร่วมกับ สมาคมหม้อน้ำและภาชนะรับความดันไทย
หลักการและเหตุผล
ในภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมัน หรืออุตสาหกรรมการผลิตอื่น ๆ ภาชนะรับความดันถือว่าเป็นอุปกรณ์สำคัญในกระบวนการผลิตที่ออกแบบให้ใช้งานภายใต้ความดันและอุณหภูมิหนึ่งๆ จากแหล่งความร้อนภายในหรือภายนอก สามารถสนับสนุนการดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ที่ได้ออกแบบไว้ ด้วยความดันใช้งานที่สูงและสารทำงานที่อันตรายที่อยู่ภายใน ทำให้อุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบร้ายแรงต่อภาคอุตสาหกรรมโดยรวม หรือต่อเศรษฐกิจของประเทศได้ ดังนั้นภาชนะรับความดันจึงต้องถูกกำกับด้วยมาตรฐานต่าง ๆ เพื่อให้การใช้งานในอุตสาหกรรมนั้นเป็นไปได้อย่างปลอดภัย ตั้งแต่ การออกแบบ การเลือกใช้วัสดุ การประเมินความเสี่ยง ก่อนการสร้าง การติดตั้ง รวมถึงการตรวจสอบระหว่างการสร้างและติดตั้ง การอำนวยการใช้ การดูแลรักษา การซ่อมแซม การตรวจสอบหลังการติดตั้งและเริ่มใช้งาน ซึ่งเนื้อหาของหลักสูตรอบรมนี้จะกล่าวถึงการตรวจสอบหลังการติดตั้งและเริ่มใช้งาน
การตรวจสอบภาชนะรับความดันหลังจากเริ่มใช้งาน ผู้ประกอบการและผู้ตรวจสอบจำเป็นต้องประเมินความเสี่ยงของภาชนะที่เสื่อมสภาพจากการใช้งานมาแล้วระยะหนึ่งว่ามีความปลอดภัยเพียงพอ สามารถใช้ต่อเนื่องตามระยะเวลาที่กำหนด การประเมินดังกล่าวอาศัยความรู้ในการออกแบบความแข็งแรงของโครงสร้าง กลไกความเสียหายหลักของแต่ละตำแหน่งเฝ้าระวังที่กำหนด วิธีการตรวจสอบระดับความเสียหาย รวมถึงการประเมินอัตราการขยายตัวของความเสียหายนั้น ความเข้าใจผลกระทบจากการใช้งานหรือสารทำงาน การตรวจสอบอุปกรณ์ควบว่ามีสภาพพร้อมใช้ตามเงื่อนไขที่ออกแบบ หากภาชนะรับความดันได้รับการซ่อมแซมหรือดัดแปลง ผู้ตรวจสอบต้องมีความรู้ในเรื่องนี้อีกด้วย
คณะอนุกรรมการระบบไอน้ำ หม้อน้ำและภาชนะรับความดัน ในคณะกรรมการวิชาการสาขาเครื่องกล วสท. ร่วมกับสมาคมหม้อน้ำและภาชนะรับความดันไทย เห็นความสำคัญในความปลอดภัยของการใช้งานภาชนะรับความดัน โดยเฉพาะการตรวจสอบหลังจากเริ่มใช้งาน จึงกำหนดจัดหลักสูตรอบรมนี้ขึ้นเพื่อให้ วิศวกรควบคุมงาน วิศวกรอำนวยการติดตั้งและใช้งาน วิศวกรตรวจสอบ ตลอดจนผู้ที่สนใจ ได้มีความเข้าใจการตรวจสอบภาชนะรับความดันหลังจากเริ่มใช้งานได้อย่างถูกต้อง และอย่างมีประสิทธิภาพ