“งานวิศวกรรมกับการเข้ากู้ภัย” โดย ดร.ธเนศ วีระศิริ

“งานวิศวกรรมกับการเข้ากู้ภัย”
โดย ดร.ธเนศ วีระศิริ
“อาคารถล่มจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ที่บริเวณถนนบรมราชชนนี เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เห็นได้ชัดว่าหลักการทางวิศวกรรมมีประโยชน์อย่างมากในการกู้ภัย
หลักการทางวิศวกรรมเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนหน่วยกู้ภัยให้เข้าปฏิบัติงานได้อย่างมั่นใจและมีความปลอดภัย”
อ่านได้ที่ลิงก์นี้ค่ะ http://anyflip.com/bookcase/qwofr

นายบุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย ประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล รศ.ดร.สมิตร ส่งพิริยะกิจ ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา มอบตู้ความดันลบ (Negative Pressure Cabinet) แบบที่ 3 และทดสอบสมรรถนะ ให้แก่โรงพยาบาลพนัสนิคม

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) โดย นายบุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย ประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล รศ.ดร.สมิตร ส่งพิริยะกิจ ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา มอบตู้ความดันลบ (Negative Pressure Cabinet) แบบที่ 3 และทดสอบสมรรถนะ
มีนายทศพร เปรมโยธิน รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดับบลิว.ไอ.พี.อีเล็คทริค จำกัด เป็นผู้ให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดทำตู้ความลบ จำนวน 2 ตู้ แก่โรงพยาบาลพนัสนิคม และขอขอบคุณ บริษัท แสงสันต์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ในการสนับสนุนทีมช่างในการประกอบตู้
โดยแพทย์ พยาบาล เป็นผู้แทนรับมอบ เพื่อนำไปใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือโรคติดเชื้ออื่น ๆ ที่จะต้องทำการแยกรักษาต่อไป
20 พฤษภาคม 2564 ณ โรงพยาบาลพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี

 

EIT Article : no.008

EIT Article : no.008
? วิกฤตการณ์ราคาเหล็กต่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง Steel price to construction crisis
ทำไมราคาเหล็กมันขึ้นไม่หยุดแบบนี้?
มีใครกักตุนเหล็กโก่งราคาเหล็กไหม?
ราคาเหล็กมันจะขึ้นไปถึงเมื่อไร?
ควรจะรอให้ราคาเหล็กมันลงหน่อยดีไหม?
มีทางใดทำให้ราคาเหล็กมันลดลงได้บ้าง?
จะหาคำตอบเรื่องนี้ได้ ต้องเข้าใจป่าทั้งป่า เข้าใจกลยุทธ์การขับเคลื่อนประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และที่สำคัญต้องวางใจเป็นกลางก่อนเป็นลำดับแรกครับ
? ปัจจัยพื้นฐาน
หลักพื้นฐานอันดับแรก คือ เหล็กเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ หรือ commodity product กล่าวคือเป็นสินค้าพื้นฐานต่อการดำรงชีวิตมนุษย์เหมือน แป้ง น้ำตาล ข้าว น้ำมัน มนุษย์ในทีนี้เป็น global scale ทุกส่วนในโลกต้องบริโภค ดังนั้น ราคาของเหล็กจึงสะท้อน global demand & global supply หรืออีกนัยหนึ่ง ใครคุม global demand ได้ ก็มีโอกาสคุมราคาเหล็กได้ ใครคุม global supply ได้ ก็มีโอกาสคุมราคาเหล็กได้
? China effect
ทุกประเทศในโลกนี้ นอกจาก “จีน” แล้ว ก็แทบไม่มีประเทศใดที่ควบคุม demand หรือความต้องการในการบริโภคเหล็ก และควบคุม supply การผลิตเหล็กได้อย่างเบ็ดเสร็จ
ฝั่ง supply side ต้องบอกเลยว่า ชัดเจนมาก กำลังการผลิตเกินครึ่งของโลกใบนี้อยู่ที่จีน จีนเริ่มเปิดโรงเหล็กอย่างเป็นดอกเห็ด ตั้งแต่สมัยแผน Beijing Olympic 2008 และ One belt one road มีความชัดเจน ซึ่งก็ต้องย้อนไปตั้งแต่สมัยราวปี 2000 ลักษณะการลงทุนเปิดโรงเหล็กในจีนเป็นแบบ state enterprise หรือ รัฐวิสาหกิจ มีรัฐมาถือหุ้น เพราะเหตุผลสำคัญคือ รัฐบาลจีนมองว่า “เหล็กเป็นความมั่นคงทางอุตสาหกรรมของประเทศ” กล่าวคือเหล็กไปเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมปลายน้ำ (downstream) อีกมากมายหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาประเทศ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมต่อเรือ และอุตสาหกรรมเพื่อการยุทธภัณฑ์ทางทหาร ซึ่งด้วยความเป็น state enterprise นี้ ทำให้โรงผลิตเหล็กในจีน ได้รับการสนับสนุนค่าต้นทุนทางพลังงานในอัตราพิเศษ
ภายหลังจาก Beijing Olympic สิ้นสุด demand ในประเทศจีนเองก็ลดน้อยลง แต่กำลังการผลิตยังอยู่เช่นเดิม ตรงนี้ ด้วยวิสัยทัศน์ของรัฐบาลจีน จึงได้ออกมาตรการสนับสนุนการส่งออกเหล็กประเภทต่างๆ ไปทั่วโลก เพื่อให้การผลิตเหล็กในจีนยังคง utilization ไว้ได้ในระดับสูง อันส่งผลต่อการรักษาระดับต้นทุนที่ต่ำเอาไว้ โดยกลยุทธ์สำคัญที่รัฐบาลจีนนำมาใช้เพื่อรักษาระดับการผลิต หรือ utilization ให้อยู่ในระดับที่สูงเช่นเดิม คือการส่งเสริมการส่งออก ผ่านมาตรการ คืนภาษีส่งออก หรือ export tax rebate ราว 9% – 13% (ขึ้นกับประเภทของเหล็ก) ซึ่งสะท้อนภาพของราคาเหล็กก่อนโควิดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่ราคาเหล็กในประเทศตกต่ำมาก เหล็กเส้นจากโรงงานอยู่ราว 13-18 บาท (ราคาขายไปยังยี่ปั๊ว ไม่ใช่ราคาที่ผู้รับเหมาจัดหา) โดยในช่วง ค.ศ. 2012-2018 เป็นช่วงที่จีน เน้นการส่งออก dump ขายเหล็กอย่างมากไปทั่วโลก กลุ่มผู้ผลิตในประเทศไทยรายใดที่ไม่สามารถนำมาตรการทางการค้า เช่น Anti Dumping (AD), Safeguard (SG) หรือ Anti Circumvention (AC) ก็ต้องปิดตัวลงเพราะไม่สามารถแข่งขันกับราคาเหล็กที่ส่งออกจากประเทศจีนได้
(ดูรูปที่ 1.1 และ1.2)
(ข้อมูลอ้างอิง Thailand Steel Industry Report – May 2021 โดย สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย)
? วิสัยทัศน์ของประเทศไทยต่ออุตสาหกรรมเหล็ก
ประเด็นวิสัยทัศน์ด้านความมั่นคงนี้คล้าย ๆ กับที่ประเทศไทยมองเรื่อง “ความมั่นคงทางพลังงาน” ที่รัฐต้องมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานมาคอยกำกับดูแล แต่น่าเสียดายที่ในประเทศไทยไม่ได้มองเหล็กเป็นความมั่นคง แต่ในทางตรงกันข้ามกลับมองเป็นการอุตสาหกรรมและเป็นการค้าการขายในเชิงพาณิชย์ปกติ ดังนั้นเหตุไม่ได้สร้างปัจจัยจึงไม่บังเกิดเป็นธรรมดา กล่าวคือ เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ราคาเหล็กเพิ่มสูงขึ้น หรือการขาดแคลนวัตถุดิบดังเช่นปัจจุบัน จึงขาดการเตรียมมาตรการรองรับไว้ล่วงหน้า ได้แต่แก้ปัญหาเป็นคราว ๆ ไปดังที่ปรากฏ
ย้อนเวลากลับไปในช่วง ค.ศ. 2012-2018 เป็นช่วงที่จีน เน้นการส่งออก ช่วงเวลานั้นถือเป็นช่วงที่ยากลำบากของอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศไทย เพราะก็เป็นธรรมดาผู้รับเหมาก่อสร้างต้องการวัตถุดิบที่ต้นทุนต่ำ เจ้าของโครงการต้องการอาคารที่ไม่แพง ดังนั้น กลุ่มผู้ผลิตเหล็กที่สามารถผลักดันให้มีการบังคับใช้มาตรการทางการค้า ไม่ว่าจะเป็น AD SG หรือ AC ก็มักจะถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายในสายตาผู้ใช้มาโดยตลอด (เพราะเมื่อมีการบังคับใช้มาตรการก็ทำให้ประเทศที่ dump หรือ เลี่ยงการเสียภาษีนำเข้า (circumvent) ก็ย่อมทำให้ราคาเหล็กในประเทศสูงขึ้น) ต้องเรียนว่าทั้ง AD SG AC นี้ เป็นมาตรการสากลที่ใช้กันทั่วโลก ตามหลักขององค์การการค้าระหว่างประเทศ หรือ (World Trade Organization: WTO) ประเทศไทยไม่ได้หยิบมาปฏิบัติประเทศเดียวนะครับ
? COVID-19 effect to global demand crisis
มาถึงช่วงสำคัญ คือ ปลายปี 2019 ต่อต้นปี 2020 เกิดการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส ที่เราทุกคนรู้จักกันดีว่า COVID-19 จุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาด เกิดที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2019 ต้นปี 2020 จีนต้องออกมาตรการจัดการอย่างเข้มข้น ปิดเมืองปิดประเทศ ซึ่งโรงผลิตเหล็กก็หนีไม่พ้น โรงงานเหล็กหลายโรงต้องลดกำลังการผลิต หลายโรงต้องปิดโรงงานชั่วคราว ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ world supply มาเติมใน inventory หรือสต๊อกในโกดัง ไม่ทัน ฝั่ง demand ต้องบริโภคเหล็กเก่าผลิตเก็บค้างในสต๊อกไว้โดยไม่มี supply มาเติม ช่วงนั้นความหวาดกลัวในฝั่ง demand ของภาคก่อสร้างก็สูง นักเศรษฐศาสตร์หลายหลายมีการคาดการออกมาในเชิงลบถึงเศรษฐกิจของโลก บางรายถึงกับคาดการณ์ถึงการล่มสลายของระบบเศรษฐกิจในหลายภาคส่วนจนทำให้ forecast demand ไม่สดใส ซึ่งส่งผลอย่างมากต่ออุตสาหกรรมเหล็กในตลาดโลก ดังปรากฏให้เห็นว่าช่วง Q2/2020 เป็นช่วงเวลาที่ราคาเหล็กในตลาดโลกตกต่ำลงแตะจุดต่ำสุด
แต่อย่างไรก็ดี ในช่วง Q4/2020 สัญญาณราคาเหล็กกลับพุ่งทะยานขึ้นอีกครั้ง เหตุผลสำคัญคือ ความเชื่อมั่นในการเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจจากหลายประเทศด้วยความหวังจากวัคซีนที่ประสบความสำเร็จในขั้นทดสอบเริ่มปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง และแน่นอนว่าลำดับในการฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้นย่อมเริ่มจากการเพิ่มอัตราการจ้างงานให้คนมีงานทำ ให้ชาวบ้านมีกำลังจับจ่ายใช้สอย โดยงานก่อสร้างโครงการภาครัฐจะเป็นกลไกหลักลำดับแรก ๆ จากกำลังของภาคเอกชนที่บาดเจ็บมาจากช่วงเริ่มต้น COVID-19 และแนวทางดังกล่าวนี้ก็เกิดขึ้นในเดียวกันพร้อม ๆ กันทุกประเทศ จนเกิด Global flash demand ขึ้น ในขณะที่ฝั่ง supply นั้นกลับฟื้นตามไม่ทันด้วยสาเหตุพื้นฐานคือ การเริ่มเดินเครื่องจักรในการผลิตเหล็กต้นน้ำ (การถลุงเหล็ก) นั้น ใช้เวลาค่อนข้างนาน ราว 3-6 เดือน
? Global supply recovery crisis
นอกจากปัญหาด้านการเริ่มเดินเครื่องจักรผลิตเหล็กต้นน้ำที่ต้องใช้เวลาสักระยะแล้ว อีกปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่งที่ฝั่ง supply ฟื้นตัวตามไม่ทันมาจากนโยบายการขับเคลื่อนประเทศจีน
ภายหลังจากที่ประเทศจีนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จีนก็ได้กำหนดทิศทางเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศ เพื่อป้อน demand ภายในประเทศที่ฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ไม่มุ่งเน้นการส่งออกดังเช่นเดิม โดยแนวมาตรการที่นำมาใช้ เช่น ยกเลิกมาตรการสนับสนุนการส่งออก ผ่านการคืนภาษี export tax rebate ในช่วงเดือนเมษายน 2022
นอกจากนั้นแล้ว ด้วยจีนเองมองตัวเองว่า “I’m no longer a sick man of Asia.” จีนจึงหันมาให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ ด้วยการระงับการเดินสายการผลิตของโรงงานที่ไม่ผ่านเกณฑ์สิ่งแวดล้อม (ถ้าในบ้านเราก็ไม่ผ่าน EIA) ยังไม่นับรวมประเด็นพิพาทระหว่างจีนกับอเมริกา ซึ่งแน่นอนว่า “เหล็ก” เป็นวัตถุดิบสำหรับ military facility & infrastructure ตลอดจนการนำไปใช้ผลิตอาวุธยุทธภัณฑ์ต่างๆ ประกอบกับ ประเทศที่ป้อนอุปทานลำดับที่ 2 ของโลก อย่างอินเดีย ก็ประสบปัญหา COVID-19 ในประเทศอย่างรุนแรง โรงงานหลายโรงไม่สามารถเดินหน้าการผลิตได้ oxygen ซึ่งเป็นปัจจัยในการผลิตเหล็กต้นน้ำ ก็ต้องมา supply ให้กับการรักษาพยาบาลกับผู้ป่วยที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในประเทศและนั่น คือ สาเหตุว่าทำไม global supply มันตามมาไม่ทัน global flash demand
? ภาพรวมอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศและโครงสร้างราคา
มาดูในประเทศไทยของเราครับ ประเทศไทยของเราไม่มีเหล็กต้นน้ำ หรือโรงถลุงเหล็ก (ผลิตจากสินแร่เหล็ก) ดังนั้น สำหรับการผลิตเหล็กเส้นซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักสำหรับงานก่อสร้าง เราจึงต้องพึงพิงวัตถุดิบอยู่ 2 ประเภท คือ (1) เศษเหล็ก หรือ scrap เพื่อนำมาหลอมและนำเหล็กหลอมเหลวไปรีดเป็นเส้น และ (2) เหล็กแท่งเล็ก หรือ billet ซึ่งอาจได้จากการหลอม scrap ออกมา โดยผู้หลอมเหล็กในประเทศ หรือ สั่ง billet มาจากต่างประเทศ
หรืออีกนัยหนึ่ง ราคาเหล็กในประเทศก็สะท้อนราคาเหล็กในตลาดโลก โดยหากพิจารณาโครงสร้างต้นทุนแล้ว การผลิตเหล็กเส้นจะประกอบไปด้วยต้นทุนประเภทต่างๆ อันได้แก่ ต้นทุนวัตถุดิบ ราว 70-80% ต้นทุนค่าพลังงานและวัสดุสิ้นเปลือง ราว 10-15% และต้นทุนค่าแรงและบริหารจัดการ ราว 10% ซึ่ง แน่นอนว่าต้นทุนหลักของเหล็กเส้นและเหล็กประเภทอื่นๆ เป็นค่าวัตถุดิบ (raw material) ซึ่งสะท้อนราคาในตลาดโลก ณ ปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใคร (นอกจากจีน) ที่จะสามารถกำหนด global supply อันสะท้อนราคาเหล็กในตลาดโลกให้เพิ่มขึ้นหรือลดลงได้เลย
? Price gap ราคาขายโดยโรงงาน กับ ราคาซื้อโดยผู้รับเหมา
ลำดับท้ายสุดที่วิศวกรหรือผู้รับเหมาก่อสร้างต้องเข้าใจหลักปฏิบัติพื้นฐานให้ดี คือลักษณะและแนวปฏิบัติการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าเหล็กของเรา
ในมุมของผู้ซื้อที่เป็น โรงงานแปรรูป เช่น โรงท่อ โรงผลิต metal sheet เป็นต้น หรือ ผู้จัดจำหน่ายที่เรียกว่า ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ด้วยการผลิตเหล็ก มีต้นทุนหลักคือต้นวัตถุดิบ และด้วยที่ผู้ผลิตในประเทศก็ถูกบั่นทอนศักยภาพลงไปมากในช่วง 2012-2018 จากการที่โดนจีนทุ่มตลาดมาอย่างหนัก ทำให้ผู้ผลิตเหล็กส่วนใหญ่ขาดสภาพคล่อง กระแสเงินสดในมือไม่สูงมาก การสั่งซื้อเหล็กจากลูกค้ารายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น โรงงานแปรรูปหรือยี่ปั๊วซาปั๊วก็มักจะกำหนดแนวทางร่วมกัน โดยผู้ซื้อที่เป็นโรงงานแปรรูป หรือยี่ปั๊วซาปั๊วก็มักจะต้องซื้อวัตถุดิบให้กับผู้ผลิต มาดำเนินการผลิตเพื่อส่ง finished product มาให้กับตน ตรงนี้เมื่อสั่งซื้อวัตถุดิบไปอาจใช้เวลาหลักเดือน ในการส่งวัตถุดิบมาถึงโรงงาน และใช้เวลาอีกหลักสัปดาห์ในการดำเนินการผลิตตาม order หรืออาจกล่าวได้ว่ายี่ปั๊วซาปั๊วในบ้านเรา ทำหน้าที่สำคัญประการหนึ่งคือการจัดหา finance เพื่อซื้อวัตถุดิบให้กับผู้ผลิตและยังต้องรอ finished product ส่งเข้ามายังโกดังสต๊อก ซึ่งอาจกินเวลา 1-3 เดือน
สำหรับผู้ซื้อที่เป็นผู้รับเหมาและผู้ขายที่เป็นยี่ปั๊วซาปั๊วนั้น กลับมีแนวทางปฏิบัติที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง ผู้รับเหมาเมื่อได้รับงานโครงการมา ก็จะขอเบิกเงินค่างวดสำหรับการซื้อวัสดุและเตรียมเครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์ เงินงวดแรกส่วนมากนำไปหมุนในกิจกรรมอื่นก่อนที่จะนำไปซื้อวัสดุก่อสร้าง (แต่อาจมีบางส่วนนำไปซื้อวัสดุก่อสร้างนะครับ แต่ไม่ทั้งหมดตามที่เสนอเจ้าของงานไป อันนี้เป็นปกติ) การซื้อวัสดุก็มักจะซื้อในรูปแบบ “เครดิต” ขอของมาใช้ก่อน ยี่ปั๊ว วางบิล มาเก็บในภายหลังอีก 1 เดือน หรือบางครั้งโดนดึง ก็อาจใช้ 2-3 เดือน
ตรงนี้อยากให้เห็นครับว่าราคาเหล็กที่ผู้ผลิตรับรู้ หรือเป็นราคาในใจของผู้ผลิตนั้น มันเป็นราคาที่ต่ำว่าราคาเหล็กที่ผู้รับเหมาหรือเจ้าของงาน เช่น หน่วยงานภาครัฐหรือกรมบัญชีกลางรับรู้ เพราะต้นทุนมันอยู่คนละระนาบ ราคาขายของผู้ผลิตเป็นราคาที่ผู้ซื้อ “ออกเงินค่าวัตถุดิบให้ก่อนล่วงหน้า” ที่จะผลิต แต่ราคาที่ผู้รับเหมาซื้อกลับเป็นราคาที่ผู้รับเหมา “ขอเครดิต รับของมาก่อนค่อยจ่ายภายหลัง” มันมี financing cost และ inventory cost ซ่อนอยู่พร้อมกับ กำไร และความเสี่ยงต่อความผันผวนด้านราคาที่ ยี่ปั๊วซาปั๊ว จะต้องรับไป
ทั้งหมดที่กล่าวไปนั้นก็เพื่อทำให้เกิดการสื่อสารกันได้อย่างเข้าใจตรงกัน ไม่เกิดความคลาดเคลื่อนว่าทำไมผู้ผลิตประกาศราคาเหล็กที่เท่านี้ แต่เวลาซื้อจริงกลับเป็นเท่านั้นนะครับ
? ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ
จากข้อมูลที่โดยผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็ก จะพบว่าในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา ราคาเหล็กปรับตัวสูงขี้นราว 60% – 90% ขึ้นกับประเภทของเหล็ก
คำถามจึงเกิดขึ้นว่าทำไมบางตัวขึ้นมากบางตัวขึ้นน้อย คำตอบก็หนีไม่พ้นหลัก demand – supply ของธุรกิจเหล็กในประเทศ ทั้งในมิติของวัตถุดิบจากเศษเหล็กและวัตถุดิบจากสินค้านำเข้าซึ่งเป็นต้นทุนหลักของสินค้าเหล็ก ซึ่งวัตถุดิบในการผลิตสินค้าแต่ละชนิดนั้น วิ่งเร็ว-ช้า ไม่เท่ากัน
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มาเกี่ยวข้องกับการปรับตัวของราคาจำหน่ายเหล็กในประเทศ อันได้แก่
1) ต้นทุนในการบริหารจัดการของผู้ผลิตแต่ละรายแตกต่างกัน แม้ว่าต้นทุนวัตถุดิบจะเป็นต้นทุนหลักที่สะท้อนต้นทุนรวมของสินค้า แต่ก็ยังมีต้นทุนอื่นๆ ประกอบ เช่น ค่าพลังงาน ค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ค่าแรงพนักงาน เป็นต้น ตลอดจน utilization rate หรือ อัตราการใช้ประโยชน์ของกำลังการผลิตทั้งหมด อันนี้ต้องยอมรับว่า โรงงานผู้ผลิตแต่ละโรงนั้น “ความเก่ง” ในการจัดการไม่เท่ากัน บางรายสามารถดัน utilization ให้สูงระดับ 70% – 80% ได้ก็ต้นทุนต่ำ แต่โดยส่วนใหญ่โรงงานในประเทศไทยจะมี utilization เพียง 40% ด้วยเหตุผลที่เมื่อย้อนไปในช่วงปี 2012 – 2018 ที่ผู้ผลิตในประเทศหลายรายต้องปิดตัวลงเพราะมีผลิตภัณฑ์เหล็กที่สามารถนำเข้ามาจากต่างประเทศได้ในราคาที่ถูกมาก จนไม่สามารถแข่งขันได้ หรือหากยังดำเนินกิจการต่อก็ผลิตน้อยลงกว่ากำลังการผลิตที่สามารถผลิตได้จริง
2) Market mechanism ในประเทศไทย ซึ่งเหล็กแต่ละประเภท มีความแตกต่างกัน เช่น
• เหล็กเส้น กำลังการผลิตในประเทศ จากข้อมูลโดยสมาคมอุตสาหกรรมเหล็กไทย เรามีกำลังการผลิตราว 11 ล้านตัน (MT) แต่ไม่นับรวมโรงงานของบริษัท ซินเคอหยวน และ หยงซิน ซึ่งเป็นโรงงานที่มีกลุ่มทุนชาวจีนมาลงทุนผลิตในประเทศไทย (ที่ไม่ได้ให้ข้อมูลแก่สมาคม ประมาณการราว 4 MT โดยประมาณ) ในขณะที่ความต้องการใช้เหล็กเส้นของบ้านเรามีเพียง 5 MT ซึ่งทำให้ เหล็กเส้น เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการแข่งขันสูงมากๆ จนแม้ว่า utilization rate จะต่ำ แต่การแข่งขันในตลาดสูง ดังนั้นราคาเหล็กเส้นจึงมีราคาถูก (เป็นแหล่งที่ราคาถูกมากที่สุดแหล่งหนึ่งในโลก)
• เหล็กรูปพรรณรีดร้อน ผลิตภัณฑ์เหล็กประเภทนี้แทบจะตรงกันข้ามกับเหล็กเส้น กล่าวคือในประเทศไทยมีโรงงานผลิตเหล็ก H beam หรือ Sheet pile เพียงรายเดียว คือ บจก. เหล็กสยามยามาโตะ (SYS) ดังนั้นการค้าการขายเหล็กรูปพรรณรีดร้อนจึงค่อนข้างจะ monopoly ผู้ผลิตสามารถดันราคาขายได้สูงกว่าเหล็กประเภทอื่น ส่งผลให้ราคา H-beam เมื่อ 10 เดือนก่อน อยู่ในระดับที่สูง และในปัจจุบัน ก็สูงขึ้นเพียงราว 20% เพราะยังมีกำไรอยู่ (แต่ดันราคาสูงกว่านี้ไม่ไหว เพราะคนซื้อไม่มีกำลังซื้อ) แต่ก็แน่นอนว่า profit margin นั้นย่อมลดน้อยลง
• เหล็กท่อ เหล็กรูปตัวซี เหล็กแผ่น มีผู้ผลิตพอประมาณ แข่งขันพอประมาณ ไม่ครองตลาดโดยผู้ประกอบการรผลิตรายเดียวเหมือนเหล็กรูปพรรณรีดร้อน แต่ก็ไม่แข่งขันสูงมากเหมือนเหล็กเส้น
ทั้งหมดนี้เป็นบทสรุปที่สะท้อนภาพรวมอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศและเหล็กในตลาดโลก หวังว่าจะเกิดประโยชน์ต่อการสร้างความเข้าใจและกำหนดนโยบายตลอดจนมาตรการที่ช่วยบรรเทาปัญหาให้กับผู้ใช้เหล็กโดยเฉพาะกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้าง แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดความเป็นธรรมกับกลุ่มผู้ผลิตเหล็ก ที่บอบช้ำมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมานะครับ
(ข้อมูลอ้างอิง https://www.facebook.com/welovesteelconstruction/posts/1345478449171713)
โดย นายณัฐพล สุทธิธรรม
อนุกรรมการสาขาโครงสร้างเหล็ก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ

นายบุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย ประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล และทีมวิศวกรอาสา ประกอบตู้ความดันลบ (Negative Pressure Cabinet) และทดสอบสมรรถนะ มอบแก่โรงพยาบาลบางบัวทอง

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) โดย นายบุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย ประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล และทีมวิศวกรอาสา ประกอบตู้ความดันลบ (Negative Pressure Cabinet) และทดสอบสมรรถนะ มอบแก่โรงพยาบาลบางบัวทอง โดยการสนับสนุนจากบริษัท ดับบลิว.ไอ.พี.อีเล็คทริค จำกัด จำนวน 2 ตู้
มีนายแพทย์ ประพุทธ ลีลาพฤทธิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางบัวทอง ดูการประกอบ และทีมแพทย์ พยาบาล เป็นผู้แทนรับมอบตู้ เพื่อนำไปใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือโรคติดเชื้ออื่น ๆ ที่จะต้องทำการแยกรักษาต่อไป
19 พฤษภาคม 2564 ณ โรงพยาบาลบางบัวทอง

วสท.จัดทำคู่มือสร้าง “ห้องความดันลบ”

วสท.จัดทำคู่มือสร้าง “ห้องความดันลบ”
วสท.จัดทำคู่มือสร้าง “ห้องความดันลบ” หาอุปกรณ์ง่าย-ราคาไม่สูง รพ.ปรับใช้ได้ทันที
.
สถานการณ์การรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ขณะนี้พบว่าผู้ป่วยใหม่เกือบ 80% จะกลายเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะปอดอักเสบ ทำให้จำนวนเตียงและห้องความดับลบสำหรับรักษาเริ่มเหลือน้อยลง หลายโรงพยาบาลต้องเร่งหาวิธีบริหารจัดการในเบื้องต้น

 

ประชุมวิชาการข่ายงานวิศวกรรมอุตสาหการ ครั้งที่ 39 ได้มอบเกียรติบัตรเพื่อประกาศเกียรติคุณแก่ ศาตราจารย์ ดร.ตรีทศ เหล่าศิริหงษ์ทอง ในฐานะนักวิจัยสาขาวิศวกรรมอุตสาหการที่มีผลงานตีพิมพ์ได้รับการอ้างอิงสูงสุดของประเทศในฐานข้อมู Scopus และ Web of Science

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) โดยคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และคณะกรรมการจัดการประชุมวิชาการข่ายงานวิศวกรรมอุตสาหการ ครั้งที่ 39 ได้มอบเกียรติบัตรเพื่อประกาศเกียรติคุณแก่ ศาตราจารย์ ดร.ตรีทศ เหล่าศิริหงษ์ทอง ในฐานะนักวิจัยสาขาวิศวกรรมอุตสาหการที่มีผลงานตีพิมพ์ได้รับการอ้างอิงสูงสุดของประเทศในฐานข้อมู Scopus และ Web of Science
โดยพิธีมอบจัดให้มีขึ้น ในงานประชุมวิชาการฯ ระหว่างวันที่ 5-7 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จังหวัดสงขลา ศาสตราจารย์ ดร. ตรีทศ เหล่าศิริหงษ์ทอง ปัจจุบันรับราชการ สังกัดภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเคยดำรงตำแหน่งประธานสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ และ กรรมการอำนวยการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (พ.ศ. 2557-2559)

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ส่งมอบตู้ความดันลบ (Negative Pressure Cabinet) จำนวน 10 ตู้ แก่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์

วันที่ 13 พฤษภาคม 2564
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) โดย ดร.ธเนศ วีระศิริ นายก และกรรมการอำนวยการ ร่วมกับบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) โดยนายสุเมธ สุรบถโสภณ รองประธานบริหารอาวุโส ส่งมอบตู้ความดันลบ (Negative Pressure Cabinet) จำนวน 10 ตู้ แก่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โดยนายแพทย์เกรียงไกร ตั้งจิตรมณีศักดา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลฯ เป็นผู้รับมอบ เพื่อนำไปใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือโรคติดเชื้ออื่น ๆ ที่จะต้องทำการแยกรักษาต่อไป

รายงานการสำรวจพื้นที่เกิดเหตุเพลิงไหม้และถล่มอาคารสูง 3 ชั้น หมู่บ้านกฤษดานคร 31 เขตทวีวัฒนา

รายงานการสำรวจพื้นที่เกิดเหตุเพลิงไหม้และถล่มอาคารสูง 3 ชั้น หมู่บ้านกฤษดานคร 31 เขตทวีวัฒนา