ปลัดกรุงเทพมหานคร นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ พร้อมด้วยนายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ และคณะผู้บริหารโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ เป็นผู้แทนรับมอบตู้ความดันลบ (Negative Pressure Cabinet) จำนวน 2 ตู้

คุณค่าของคนคือการทำความดี และการทำประโยชน์เพื่อสังคม

วันที่ 17 เมษายน 2563
คนกรุงเทพมหานครได้ใช้ตู้ความดันลบแล้ว วันนี้ปลัดกรุงเทพมหานคร นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ พร้อมด้วยนายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ และคณะผู้บริหารโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ เป็นผู้แทนรับมอบตู้ความดันลบ (Negative Pressure Cabinet) จำนวน 2 ตู้ จากบริษัท อิตาเลียนไทย ดิเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) โดยนายสุเมธ สุรบถโสภณ รองประธานบริหารอาวุโส เป็นผู้ประกอบ และคณะทำงานของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมถ์ (วสท.) เป็นผู้ออกแบบ ได้สรุปความเป็นมาของโครงการ วัตถุประสงค์และประโยชน์ที่จะเกิดกับบุคลากรการแพทย์ ผู้ป่วยและประชาชน สำหรับตู้ความดันลบ ที่ห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน ชั้นที่ 1 อาคาร 72 พรรษามหาราชินี โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์

สำหรับตู้ความดันลบที่ส่งมอบเป็นตู้ที่มีขนาดความกว้าง 1.30 x 2.60 สูง 2.20 เมตร ใช้กับเตียงคนไข้ 1 เตียง หรือใช้สำหรับให้ผู้ป่วยนั่งได้ 3 – 4 คนตามระยะห่างความปลอดภัยต่อการแพร่เชื้อ ออกแบบให้มีความปลอดภัยทางการแพทย์และหลักวิศวกรรมในการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลทั้งภายใน และภายนอกอาคาร มีน้ำหนักเบา สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย ปลอดภัยต่อการใช้งาน ง่ายต่อการดูแลรักษา และทำความสะอาด การทำงานจะต้องเป็นไปเงื่อนไขหลักคือ ความสะอาดของอากาศ และการรักษาความดันอากาศภายในห้อง โดยใช้พัดลมแบบติดเพดานเพียง 1 เครื่องทำงาน 2 หน้าที่ คือต้องนำอากาศจากภายนอกเข้ามาเจือจางอากาศภายในตู้ให้ได้จำนวนไม่น้อยกว่า 12 ครั้งต่อชั่วโมงแล้วนำไปปล่อยทิ้งให้ห่างจากอาคารไม่น้อยกว่า 8.00 เมตร โดยจะต้องไม่ให้อากาศที่นำไปทิ้งสามารถหวนกลับเข้าสู่อาคาร และรักษาความดันอากาศภายในตู้ให้ต่ำกว่าบรรยากาศไม่น้อยกว่า 2.5 ปาสกาล

นอกจากนี้ วสท. ยังได้ทดสอบการไม่ลามไฟของแผ่นพลาสติกความหนา 500 ไมครอนตามมาตรฐาน UL94 ผลการทดสอบผ่านการทดสอบ

ในโอกาสนี้ วสท. ได้นำตู้เครื่องกรองอากาศประสิทธิภาพสูงพร้อมหลอด UVC แบบเคลื่อนที่ได้ มีประสิทธิภาพในการกรองอนุภาคชนาด 0.3 ไมครอนได้ 99.995% สามารถนำไปใช้งานในห้องทั่วไปเพื่อฟอกอากาศให้สะอาดรวมถึงการนำไปใช้กับตู้ความดันลบของ วสท. ได้ทุกแบบ

หลังจากนั้นปลัดกรุงเทพมหานครได้กล่าวขอบคุณบริษัท อิตาเลียนไทย ดิเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมถ์ ที่ได้สนับสนุนตู้ความดันลบแก่กรุงเทพมหานคร ซึ่งกรุงเทพมหานครจะได้นำไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด 19 หรือโรคติดเชื้ออื่น ๆ ที่จะต้องทำการแยกรักษา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนต่อไป

เป็นอานิสงส์ของคนกรุงเทพมหานครที่คนไทยไม่ทอดทิ้งกัน ถ้าเราจะรอดก็ต้องรอดด้วยกันทุกคนเพื่อให้คนไทยกลับไปดำรงชีวิตอย่างปกติโดยเร็ว

คณะทำงานศูนย์วิศวกรรมสนับสนุนต้านภัย COVID – 19 วสท.

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ สาขาภาคตะวันตก นำกล่อง AEROSOL BOX ไปมอบให้กับทีมแพทย์

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ สาขาภาคตะวันตก นำกล่อง AEROSOL BOX ไปมอบให้กับทีมแพทย์ธนาคารโลหิต รพ.ราชบุรี และโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๙ จ.กาญจนบุรี ซึ่งคุณหมอชื่นชมว่าเป็นกล่องที่ออกแบบมาเหมาะสมกับการใช้งานมากครับ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เริ่มนำตู้ความดันลบจำนวน 31 ตู้ ตามรูปแบบ วสท.แบบที่ 3 EIT-01-3/31032020 หลังจากได้ผ่านการทดสอบสมรรถนะตู้ต้นแบบจาก วสท.เริ่มส่งไปโรงพยาบาลต่างๆ

วันที่ 16 เมษายน 2563 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เริ่มนำตู้ความดันลบจำนวน 31 ตู้ ตามรูปแบบ วสท.แบบที่ 3 EIT-01-3/31032020 หลังจากได้ผ่านการทดสอบสมรรถนะตู้ต้นแบบจาก วสท. เรียบร้อยแล้ว

มจพ. ก็แยกชิ้นส่วนเพื่อบรรจุใส่กล่องพร้อมเครื่องมื่อที่ต้องใช้ในการประกอบ เริ่มส่งไปโรงพยาบาลเชียงคำ จังหวัดพะเยา จำนวน 1 ตู้ โรงพยาบาลสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1 ตู้ และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 29 ตู้ รวมทั้งสิ้น 31 ตู้การประกอบที่สถานพยาบาลอยู่ภายใต้การช่วยเหลือของวิศวกรอาสาที่มีแทบทุกจังหวัด

รถบรรทุกที่ใช้ขนตู้ก็ต้องประสานงานกันเป็นอย่างดีเพื่ออำนวยความสะดวกให้วัสดุถึงที่หมายอย่างปลอดภัย

คนไทยทั่วทิศจะได้อุ่นใจ พวกเราจะต้องผ่านพ้นวิกฤติการณ์นี้ด้วยกันทุกคนครับ

คณะทำงานศูนย์วิศวกรรมสนับสนุนต้านภัย COVID-19 วสท.

 

บริษัท สยามคูโบต้าฯช่วยเหลือสังคมบรรเทาทุกข์ให้กับคนไทยด้วยการประกอบตู้ความดันลบแบบที่ 3 EIT-01-3/31032020 ตามรูปแบบ วสท. จำนวน 20 ตู้

วันที่ 15 เมษายน 2563 บริษัท สยามคูโบต้าฯ เดินหน้าช่วยสังคมตามปรัชญา บริษัท สยามคูโบต้าฯ ผู้นำตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรอาเซียน เมื่อคนไทยเผชิญวิกฤติกับโรคอุบัติใหม่ covid 19 บริษัทก็หันหน้ามาช่วยเหลือสังคมบรรเทาทุกข์ให้กับคนไทยด้วยการประกอบตู้ความดันลบแบบที่ 3 EIT-01-3/31032020 ตามรูปแบบ วสท. จำนวน 20 ตู้ ให้กับสถานพยาบาล เนื่องจากช่างของโรงงานมีความรู้ และเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเป็นอย่างดี การประกอบตู้ความดันลบจึงไม่ยากเย็น เมื่อประกอบตู้ตัวอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้การผลิตอีกหลายตู้ถูกต้องตามรูปแบบ วสท. บริษัทจึงเชิญ วสท. เข้ามาทดสอบสมรรถนะการทำงานของตู้

หลังจาก วสท. ได้ฟังแนวคิด และนโยบายบริษัทที่มีเจตนาจะช่วยเหลือคนไทยให้พ้นจากความยากลำบากโดยเร็วแล้ว วสท. อธิบายเงื่อนไขการทำงานที่สำคัญของตู้ความดันลบซึ่งจะต้องทำให้ได้คือ การนำอากาศเข้ามาแทนที่อากาศในตู้ความดันลบให้ได้ 12 ครั้งต่อชั่วโมง (ACH) การรักษาแรงดันอากาศในห้องให้ต่ำกว่าบรรยากาศไม่น้อยกว่า 2.50 ปาสกาล(PA) การนำอากาศของตู้ความดันลบไปปล่อยทิ้งให้ห่างจากอาคารไม่น้อยกว่า 8 เมตร และทดสอบการไม่ลามไฟของแผ่นพลาสติกตามมาตรฐาน UL 94 ผลการทดสอบสมรรถนะผ่านทั้งหมด ทำให้คณะทำงานในโครงการมีความรู้ ความเข้าใจและความมั่นใจเต็มที่

สยามคูโบต้าตั้งใจ และมุ่งมั่นทั้งโรงงานเพื่อให้สังคมไทยผ่านพ้นวิกฤติการณ์ และแข็งแกร่งเหมือนเดิม

พลโทชาญชัย ติกขะภิญโญ เจ้ากรมแพทย์ทหารบก และคณะ รับมอบตู้ความดันลบแบบของ วสท. จากนายเปรมชัย กรรณสูต บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด ( มหาชน ) พร้อมคณะทำงาน จำนวนทั้งสิ้น 132 ตู้

วันที่ 15 เมษายน 2563 วันที่ตู้ความดันลบของ วสท. ได้รับใช้สังคม และประชาชน
“ทหารอยู่เคียงข้างประชาชนเสมอ ทุกสถานการณ์ ทุกที่ และทุกเวลา”

พลโทชาญชัย ติกขะภิญโญ เจ้ากรมแพทย์ทหารบก และคณะ รับมอบตู้ความดันลบแบบของ วสท. จากนายเปรมชัย กรรณสูต บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด ( มหาชน ) พร้อมคณะทำงาน จำนวนทั้งสิ้น 132 ตู้ เป็น
ตู้ความดันลบของ วสท. 2 แบบ คือ EIT-01-2/30032020 กว้าง 1.90 x 2.60 สูง 2.20 เมตร สามารถบรรจุเตียงคนไข้ได้ 1 เตียง และแบบที่ 3 EIT-01-3/31032020 กว้าง 3.10 x 2.60 สูง 2.20 เมตร มีห้องปรับความดัน (Ante) เพื่อให้กองทัพนำไปใช้ในกิจการของโรงพยาบาลในสังกัดของกองทัพบก เพื่อดูแลสุขภาพ ให้บริการทางการแพทย์ แก่กำลังพล ครอบครัว และประชาชน

สำหรับตู้ความดันลบก่อนการส่งมอบในวันนี้ วสท. ได้ทำการสุ่มตรวจสอบ และทดสอบสมรรถนะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สามารถทำงานโดยระบายอากาศได้เกินกว่า 12 ACH และรักษาแรงดันลบภายในห้องได้ต่ำกว่า 2.5 ปาสกาล (Pa) นอกจากนี้ นายบุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย ผอ.ศูนย์วิศวกรรมสนับสนุนต้านภัย COVID-19 ได้นำอุปกรณ์สิ่งประดิษฐ์ลำดับที่ 4 คือ ตู้เครื่องกรองอากาศประสิทธิภาพสูงแบบเคลื่อนที่ได้พร้อมหลอดไฟ UVC เพื่อใช้ฆ่าเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ เช่น ไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อรา รวมถึงสาธิตการไม่ลามไฟของแผ่นพลาสติกที่ใช้เป็นผนัง และหลังคา ตามมาตรฐาน UL 94 ที่กำหนดวิธีการทดสอบ และแบ่งระดับการไม่ลามไฟของพลาสติก ทดสอบใช้แผ่นพลาสติกที่ตัดบางส่วนจากตู้ความดันลบที่ส่งมอบมาเป็นชิ้นทดสอบ โดยใช้เปลวไฟจากไฟแช็คเผาที่ปลายแผ่นพลาสติกในแนวตั้งเป็นเวลา 10 วินาที แล้วนำเปลวไฟออก ผลคือไฟสามารถดับได้เอง และไม่มีลูกไฟหยดลงพื้นด้านล่าง จากนั้นให้ใช้แผ่นพลาสติกเดิมเผาในแนวนอน โดยนำไฟแช็คเผา ผลคือ ไม่มีลูกไฟหยด แผ่นพลาสติกไม่เป็นรู ไม่เสียรูปร่าง และมวลสาร ผลทดสอบผ่านการไม่ลามไฟ

หลังเสร็จสิ้นการส่งมอบและถ่ายรูปร่วมกันภายใต้ ค่านิยม
“คุณภาพ ศักดิ์ศรี สามัคคี มีวินัย”

คณะทำงานศูนย์วิศวกรรมสนับสนุนต้านภัย COVID-19 วสท.

ในภาพอาจจะมี หนึ่งคนขึ้นไป, ผู้คนกำลังยืน และ สถานที่ในร่ม

 

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) ได้ตรวจสอบและทดสอบสมรรถนะตู้ความดันลบแบบที่ 1 ความกว้าง 1.30 x 2.60 สูง 2.20 เมตร จำนวน 2 ตู้ ที่ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ส่งมอบให้กองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ๙๐๔

วันที่ 14 เมษายน 2563 วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) ได้ตรวจสอบและทดสอบสมรรถนะตู้ความดันลบแบบที่ 1 ความกว้าง 1.30 x 2.60 สูง 2.20 เมตร จำนวน 2 ตู้ ที่ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ส่งมอบให้กองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ๙๐๔ เพื่อนำไปใช้กิจการและภารกิจทางราชการต่อไป

ผู้สนใจสามารถศึกษาและดาวน์โหลดคู่มือผู้ใช้
ได้ที่ https://bit.ly/2JOSftW

บริษัท ทำดี ไฟร์ อิควิปเมนท์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ที่ให้ความอนุเคราะห์ในการฉีดพ่น วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อไวรัส COVID-19 ตั้งแต่บริเวณชั้นจอดรถใต้ดิน ห้องอบรม สัมมนา สำนักงาน ไปถึงชั้น 6

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อไวรัส COVID-19 ตั้งแต่บริเวณชั้นจอดรถใต้ดิน ห้องอบรม สัมมนา สำนักงาน ไปถึงชั้น 6
เพื่อป้องกันแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสฯ

และขอขอบคุณ บริษัท ทำดี ไฟร์ อิควิปเมนท์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ที่ให้ความอนุเคราะห์ในการฉีดพ่นครั้งนี้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ

10 เมษายน 2563

บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด วสท. ทำคำมั่นสัญญาจะนำแบบของวสท. ไปสร้างเป็นตู้ความดันลบ จำนวน 132 ตู้มอบให้แก่โรงพยาบาล

วันที่ 10 เมษายน 2563 วันแห่งคำมั่นสัญญา วันที่พร้อมส่งมอบตู้ความดันลบจำนวน 132 ตู้

ภายหลังจากที่กรมแพทย์ทหารบก และกระทรวงสาธารณสุขร่วมกันทดสอบตู้ความดันลบที่โรงพยาบาลพระมงกุฎแล้ว บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด ผู้บริจาครายใหญ่รายหนึ่งก็รับปากด้วยคำมั่นสัญญาว่าจะนำแบบของ วสท. ไปสร้างเป็นตู้ความดันลบแบบที่ 3 ขนาด 3.10 x 2.60 สูง 2.20 เมตร (แบบที่มี Ante room) จำนวน 80 ตู้ และ ตู้ความดันลบแบบที่ 1 ขนาด 1.30 x 2.60 สูง 2.20 เมตร จำนวน 8 ตู้ ให้กรมแพทย์ทหารบก ซึ่งในจำนวนนี้จะลัดคิวส่งมอบให้กระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำไปใช้ที่จังหวัดปัตตานีก่อนจำนวน 44 ตู้ หลังจากนั้นบริษัท อิตาเลียนไทยฯก็จะประกอบและทะยอยส่งมอบให้ครบตามจำนวน 132 ตู้

ผู้อำนวยการ ศูนย์วิศวกรรมสนับสนุนต้านภัย COVID-19 กล่าวสรุปแนวคิดในการออกแบบที่ต้องไม่ยุ่งยากในการสร้าง การใช้งาน การบำรุงรักษา ความปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญคือประโยชน์ที่จะเกิดกับบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย และคนที่มาใช้บริการในโอกาสเดียวกันนี้ ผอ.ศูนย์ฯ ก็ได้นำเสนอ ”สิ่งประดิษฐ์ลำดับที่ 4 เป็นตู้เครื่องกรองอากาศประสิทธิภาพสูงแบบเคลื่อนที่ได้” โดยใช้ ความสะอาดระดับ H14 มีประสิทธิภาพการกรอง 99.995% ที่อนุภาคเล็กมากขนาดเล็กกว่า 0.3 ไมครอน ตามมาตรฐาน BS EN 1822-2019 ออกแบบให้ใช้กับพื้นที่ห้องไม่เกิน 12 ตารางเมตร ซึ่งจะใช้ร่วมกับตู้ความดันลบทุกแบบได้เป็นอย่างดี ทำให้สถานพยาบาลเกิดความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และสามารถใช้งานได้หลายภารกิจทั้งในสถานพยาบาล และบริเวณทั่วไปที่มีพื้นที่ห้องไม่เกิน 12 ตารางเมตร ความสูงไม่เกิน 2.40 เมตร

หลังจากนั้นคณะทำงานของ วสท. ทั้งหมดได้เข้าชมตู้ความดันลบ และเยี่ยมชมสถานที่สร้างตู้ความดันลบ ซึ่งบริษัท อิตาเลียนไทยฯได้แปลงห้องอาหารพนักงานเป็นสถานที่ประกอบตู้ความดันลบ ด้วยประสบการณ์และความเป็นมืออาชีพในงานก่อสร้าง การแยกชิ้นงานอย่างละเอียด การทำเครื่องหมายที่ชัดเจน และการให้ความสำคัญถึงการบรรจุหีบห่อให้ครบถ้วนทุกชิ้นพร้อมแบบประกอบที่มีตำแหน่งเครื่องหมาย ทำให้การจัดส่งถึงหน่วยงานปลายทางมีความสะดวกและปลอดภัยในการขนส่ง

หลังจากประกอบตามคู่มือผู้ใช้ของ วสท. เสร็จแล้ว ตรวจความเรียบร้อย ทดสอบการรั่วของตู้แบบง่าย ๆ ด้วยธูป ทำความสะอาดตู้ และเปิดพัดลมก่อนการใช้งาน 30 นาที ก็สามารถใช้งานได้ โดยอาจไม่ต้องทดสอบด้วยเครื่องมือวัดความดัน

ความสำเร็จครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย เพื่อให้คนไทย และประเทศไทยผ่านวิกฤตการณ์นี้ไปด้วยดีทุกคน

“คำมั่นสัญญาถือเป็นเกียรติที่สมควรยกย่องของคน”

คณะทำงานศูนย์วิศวกรรมสนับสนุนต้านภัย COVID – 19 วสท.

วิศวอาสา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ลงพื้นที่ประกอบตู้ความดันลบ แบบที่ 3 (มีห้อง ante room) ให้แก่โรงพยาบาลสุรินทร์ โดยมีแพทย์ และบุคลากรการแพทย์ ให้การต้อนรับ เพื่อเป็นต้นแบบให้แก่วิศวกรในพื้นที่

วิศวอาสา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ลงพื้นที่ประกอบตู้ความดันลบ แบบที่ 3 (มีห้อง ante room) ให้แก่โรงพยาบาลสุรินทร์ โดยมีแพทย์ และบุคลากรการแพทย์ ให้การต้อนรับ
เพื่อเป็นต้นแบบให้แก่วิศวกรในพื้นที่ จะได้นำไปประกอบให้แก่โรงพยาบาลอื่น ๆ ที่ต้องการ โดยประกอบตามคู่มือตู้ความดันลบที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ จัดทำเพื่อเผยแพร่ ฟรี
ดาวน์โหลด ได้ที่ https://bit.ly/2JOSftW

11 เมษายน 2563 ณ โรงพยาบาลสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยส่งมอบ ห้อง Negative pressure cabinet Version 2 หรือห้องแยกเดี่ยวผู้ป่วยติดเชื้อทางเดินหายใจแบบความดันลบ ให้กับ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

ความลงตัวที่พอดีระหว่างวิศวกรกับแพทย์ตอบโจทย์เพื่อการดูแลคนไข้โควิด-19

Negative pressure cabinet Version 2 หรือห้องแยกเดี่ยวผู้ป่วยติดเชื้อทางเดินหายใจแบบความดันลบ

เป็นความร่วมมือระหว่างวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมแพทย์ทหารบก และบริษัท อิตาเลียน-ไทย จำกัด เพื่อใช้เป็นห้องแยกในการป้องกันการติดเชื้อทางอากาศ สำหรับดูแลผู้ป่วยติดเชื้อทางเดินหายใจ

Negative pressure cabinet Version 2 ถูกปรับปรุงให้มีขนาดของห้องกว้างขึ้นเป็น 1.9 เมตร เพื่อให้สามารถบรรจุเตียงผู้ป่วย และอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมทั้งสามารถให้บุคลากรทางการแพทย์เข้าไปให้การดูแลได้อย่างสะดวก

นอกจากนี้ยังมีการปรับพื้นที่เพิ่มเป็นห้อง Ante room หรือห้องพักก่อนเข้าห้องผู้ป่วย เพื่อเป็นกันชนไม่ให้มีอากาศเล็ดลอดจากห้องผู้ป่วยสู่บริเวณข้างเคียงและยังสามารถใช้เป็นห้องเปลี่ยนชุดสำหรับผู้ดูแลผู้ป่วยไม่ให้ออกมาปนเปื้อนภายนอกด้วย

ห้องดูแลผู้ป่วยต้นแบบฝีมือคนไทย มีราคาประมาณ 10,000 บาท สามารถนำไปประกอบใช้งานได้เอง สามารถใช้งานได้ทั้งในอาคารและในร่มนอกอาคาร โดยทางวิศวกรรมสถานฯได้จัดทำคู่มือการใช้งานไว้ และเพื่อให้เกิดความมั่นใจ ได้มีการตรวจสอบประเมินสมรรถนะจากแพทย์เฉพาะทางโรคปอดและโรคติดเชื้อ รวมทั้งการทดสอบทางด้านวิศวกรรม ซึ่งทำให้มีการพัฒนารูปแบบอย่างเหมาะสมในการใช้งานมากยิ่งขึ้น

และในสัปดาห์หน้า Negative patient cabinet version 2 ทางบริษัท อิตาเลียน-ไทยจำกัด จะสามารถผลิตและทยอยส่งไปสนับสนุนโรงพยาบาลในจังหวัดชายแดนใต้ก่อนเพื่อให้การดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีจำนวนมากอยู่ในขณะนี้

ทั้งนี้กองทัพบก โดย กรมแพทย์ทหารบก พรัอมให้การสนับสนุน เพื่อเสริมการทำงานร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข และทุกภาคส่วนอย่างเต็มที่