วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) ร่วมกับสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่เกิดเหตุโครงสร้างรับชุดรอกถล่ม บริเวณใกล้อาคารคลองถม
เซ็นเตอร์ ถนนวรจักร แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ ที่ปรึกษา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า การก่อสร้างในสถานที่คับแคบที่จำเป็นต้องเคลื่อนย้าย หรือยกชิ้นงานที่ใช้ในการก่อสร้างที่มีน้ำหนักมาก อุปกรณ์ที่ใช้ต้องผ่านการตรวจสอบ และมีหลักการเทคนิคที่ถูกต้องเนื่องจากพื้นที่มีจำกัด อาจจะเกิดอุบัติเหตุเป็นอันตรายต่อชีวิต หรือกระทบกับอาคารข้างเคียงได้
อาคารที่กำลังก่อสร้างนี้ ใช้วิธีการยกโครงสร้างเหล็กที่จะประกอบเป็นเสา ขณะเกิดเหตุกำลังดำเนินการยกขึ้นไปติดตั้งในระดับชั้น 3 ซึ่งมีความสูงประมาณ 6-7 เมตร และใช้ตัวช่วยยก เรียกว่า “โครงถักเหล็กแป๊บ” ทำหน้าที่คล้ายปั้นจั่นสำหรับดึงวัสดุขึ้นไป ลักษณะการดึงยก ต้องตรวจสอบว่าแข็งแรงเพียงพอหรือไม่ สถานะการยืนของปั้นจั่นมีเสถียรภาพเพียงพอ (Stability) หรือไม่ ฐานมีการยึดตรึงแน่นหรือไม่ เพราะการยก อาจมีทั้งแรงในแนวดิ่ง ในแนวราบ และแรงบิดเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันได้ ต้องระมัดระวังอย่างมาก และต้องมีวิศวกรที่มีความชำนาญควบคุมอย่างใกล้ชิด
กฎหมายควบคุมอาคารให้คำจำกัดความ “อาคาร” หมายรวมถึงสิ่งก่อสร้างที่บุคคลใช้สอยได้ ซึ่งนอกจากตัวอาคารแล้ว ยังหมายรวมถึงสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ที่มีความสูงเกิน 10 เมตร โครงสร้างเหล็กแป๊บดังกล่าวสูงประมาณ 15 เมตร น่าจะเข้าข่ายวิศวกรรมควบคุมตาม พ.ร.บ. วิศวกร ดังนั้นต้อง ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ก่อนดำเนินการก่อสร้าง สำหรับการมาตรวจพื้นที่ครั้งนี้เพื่อจะได้นำข้อมูล กลับไปทำมาตรฐานเกี่ยวกับการปฏิบัติงานเพิ่มเติม เพื่อที่จะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต
นายวุฒินันทน์ ปัทมวิสุทธิ์ ประธานคณะอนุกรรมการยกหิ้วและปั้นจั่นไทย /กรรมการความปลอดภัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า สำหรับวิธีการเคลื่อนย้ายชิ้นส่วนเหล็ก หรือสิ่งของน้ำหนักมาก อันดับแรกต้องประเมินน้ำหนักสิ่งของและดูอุปกรณ์ที่ใช้ยก จะใช้เครน หรือรอกยกก็ได้ แต่ต้องดูพิกัดน้ำหนักสิ่งของ และต้องผูกมัดด้วยสลิงที่ออกแบบโดยเฉพาะที่จะมีมาตรฐานกำหนด ส่วนโครงสร้างชั่วคราวที่ใช้รับน้ำหนักต้องให้วิศวกรคำนวณการผูกรั้งยึดเกาะกับโครงสร้างหลักของอาคาร เพราะระหว่างการก่อสร้าง อาจเกิดแรงเคลื่อนไหวกระทบกับรอกได้ จึงต้องมีวิศวกรชำนาญการเฉพาะ ส่วนคนงานผู้ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ต้องผ่านการฝึกอบรมการทำงาน และมีความรู้พอสมควร
นายสุรเชษฐ์ สีงาม กรรมการความปลอดภัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า ผู้ควบคุมจำเป็นต้องให้ความรู้ กับคนงานก่อสร้าง ให้เรียนรู้การใช้อุปกรณ์ และตรวจสอบอุปกรณ์ต่าง ๆ ก่อนเริ่มงานทุกครั้ง รวมถึงจัดอุปกรณ์การป้องกันบุคคลที่มีมาตรฐาน
————————
– รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ ที่ปรึกษาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ
– นายวุฒินันทน์ ปัทมวิสุทธิ์ ประธานคณะอนุกรรมการยกหิ้วและปั้นจั่นไทย /กรรมการความปลอดภัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ
– นายประวิทย์ โตรฐาน รองประธานคณะอนุกรรมการยกหิ้ว และปั้นจั่นไทย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ
– นายชาญวิทย์ เลิศฤทธิ์ เลขานุการ คณะอนุกรรมการยกหิ้วและปั้นจั่นไทย /กรรมการความปลอดภัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ
– นายสุรเชษฐ์ สีงาม กรรมการความปลอดภัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ
– นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ รองผู้อำนวยการ สำนักป้องกัน และบรรเทาสาธารภัย กรุงเทพมหานคร
23 พฤศจิกายน 2562
