วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) โดย ดร.ธเนศ วีระศิริ นายก นายลือชัย ทองนิล ประธานสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า และวิศวกรอาสา เข้าตรวจสอบพื้นที่เพลิงไหม้อาคารพาณิชย์ย่านสำเพ็ง ร่วมกับสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร โดยนายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา รศ.ดร.ปิยะบุตร วาณิชพงษ์พันธุ์ นายก สภาวิศวกร นางสาวบุษกร แสนสุข ประธานคณะทำงานประสานงานด้านภัยพิบัติจากอัคคีภัย สภาวิศวกร และประธานคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมป้องกันอัคคีภัย วิศวกรรมสถานแ่ห่งประเทศไทยฯ นางสาวอาทิตยา โชคกิจมนัสชัย ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ กองพิสูจน์หลักฐาน การไฟฟ้านครหลวง ฯลฯ
จากการสำรวจด้วยการตรวจพินิจ (Visual Inspection) อาคารห้องที่ตรงกับหม้อแปลงไฟฟ้า เป็นอาคารประเภทคอนกรีตเสริมเหล็ก ได้รับความเสียหายน้อย ไม่พบการโก่ง หรือแอ่นตัวของโครงสร้าง อย่างไรก็ตาม ควรตรวจสอบเชิงลึกว่ามีการแตกร้าวภายในโครงสร้างส่วนใดหรือไม่
อาคารห้องด้านซ้าย (เมื่อมองจากด้านหน้า) จำนวน 2 ยูนิต ถัดจากยูนิตที่ตรงกับหม้อแปลงไฟฟ้า โครงสร้างเหล็กที่รองรับพื้นเกิดการโก่งงอ บิดตัวเกือบทุกชั้น ผนังชั้น 2 ของยูนิตซ้ายสุดเกิดการโก่งตัว มีโอกาสพังลงได้ ดังนั้น การเข้าพื้นที่ในส่วนของ 2 ยูนิตด้านซ้าย (ที่ชิดกับยูนิตที่ตรงกับหม้อแปลงไฟฟ้า) ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ
ในส่วนของหม้อแปลงไฟฟ้า (ดูจากคลิปที่ส่งกันทางสื่อสังคมออนไลน์) มีควันไฟบริเวณหม้อแปลงไฟฟ้า สันนิษฐานว่า ยังไม่ชัดเจนว่าเกิดจากตัวหม้อแปลง หรืออาจเกิดจากสายสื่อสาร หรือสายไฟฟ้าที่ติดกับหม้อแปลงก็เป็นได้ ในขณะนี้การไฟฟ้านครหลวงได้นำไปตรวจพิสูจน์เพื่อหาสาเหตุต่อไป
อาคารที่อยู่ในตำแหน่งตรงกันกับหม้อแปลงไม่ได้รับความเสียหายมากนักเนื่องจากภายในไม่ได้จัดเก็บสิ่งของหรือวัสดุที่ติดไฟได้ แต่อาคารที่อยู่ติดกันมีการจัดเก็บสิ่งของที่เป็นประเภทพลาสติกถุงพลาสติกห่อบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ จำนวนมากเก็บในลักษณะเป็นชั้นวางสูงในทุก ๆ ชั้นซึ่งวัสดุเหล่านี้ติดไฟได้อย่างรวดเร็วแล้วเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีมีพลังงานความร้อนสูงในการดับจะต้องใช้น้ำปริมาณมากจึงทำให้เกิดการลุกลาม เกิดการลุกไหม้เป็นระยะเวลานานทำให้เกิดความเสียหายเกือบทั้งอาคาร เพราะการดับเพลิงเป็นไปได้ยาก
อาคาร มีทางเข้าออกทางเดียวคือชั้นล่างด้านหน้าของอาคาร มีบันไดขึ้นลง ซึ่ง ไม่มีทางออกด้านหลังหรือไม่มีบันไดหนีไฟออกจากด้านหลังของอาคารได้เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ จึงไม่มีทางออกจากอาคาร เพราะไฟไหม้ทางด้านหน้าอาคารปิดทางออกปกติ และหน้าต่างที่มีโดยรอบอาคารเป็นหน้าต่างที่มีเหล็กดัดไม่สามารถเปิดได้ ทำให้ไม่สามารถหนีไฟได้และการเข้าระงับเหตุและช่วยเหลือก็ทำได้ยากเหล็กดัดเป็นอุปสรรคต่อการหนีไฟและการช่วยเหลือดับเพลิงกู้ภัยของอาคาร ในประเด็นนี้ข้อกำหนดของกฎหมายกฎกระทรวงฉบับที่ 18 พ.ศ. 2530 กำหนดให้อาคารจะที่มีเหล็กดัดหรือลูกกรงจะต้องมีช่องเปิดขนาดไม่น้อยกว่า 60×80 เซนติเมตรในทุกชั้นของอาคารเพื่อให้เป็นช่องทางหนีไฟและบรรเทาสาธารณภัยได้
ในประเด็นข้อสังเกตด้านอื่นเป็นเรื่องของความรู้ในเรื่องของการหนีไฟเมื่อมีเหตุการณ์ผิดปกติหรือเหตุการณ์ที่เกิดการลุกไหม้เกิดขึ้นจะต้องมีการตรวจสอบและเข้าระงับเหตุหรืออพยพออกจากอาคาร ในกรณีนี้ทราบว่าผู้ที่เสียชีวิตไม่ได้ออกจากอาคารทันทีทำให้เมื่อเกิดการลุกไหม้อย่างรวดเร็วจึงไม่สามารถหนีไฟได้ทัน
27 มิถุนายน 2565

































