วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้เข้าตรวจ และรายงานผลสมรรถนะการทำงานตู้ความดันลบแบบที่ 3 ของ วสท. (แบบที่มีห้องความดันลบ) ที่โรงพยาบาลโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก

วันนี้ 3 กุมภาพันธ์ 2564 วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) โดย นายจีระศักดิ์ ปราชญ์โกสินทร์ เลขาธิการ นายบุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย ประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล นายกิตติ จันทรา ประธาน วสท. สาขาภาคตะวันออก 1 นายภูสิทธิ์ กิจสกุล และนายเสริมพงษ์ ทัตตะโถมะ กรรมการ วสท. สาขาภาคตะวันออก 1 ได้เข้าตรวจ และรายงานผลสมรรถนะการทำงานตู้ความดันลบแบบที่ 3 ของ วสท. (แบบที่มีห้องความดันลบ) ที่โรงพยาบาลโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก ตามที่ พันเอก ณรงค์ ภักดีศุภผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ทำหนังสือขอความอนุเคราะห์มาที่ วสท.
ผลการตรวจสภาพการประกอบตู้ความดันลบซึ่งตั้งอยู่ภายในห้องฉุกเฉิน มีรายละเอียดน่าสนใจดังนี้
1. ไม่ได้ติดตั้งอุปกรณ์ประตูเพื่อบังคับให้ประตูปิดสนิท แต่การประกอบเหลือช่องว่างที่ประตูน้อย ทำให้ตู้มีการรั่วเข้าน้อยกว่าอากาศที่ไหลออก ส่งผลให้ความดันยังสามารถเป็นลบอยู่ได้
2. ด้วยข้อจำกัดในการนำอากาศจากตู้ไปทิ้งนอกอาคารทางหน้าต่าง โรงพยาบาลจึงติดตั้งท่อพีวีซีนำอากาศไปปล่อยทิ้งที่หลังคาชั้น 4 ซึ่งสูงจากตู้ความดันลบมากกว่า 16 เมตร ทำให้เกิดความเสียดทานจากความความสูงและท่อที่ยาวกว่าปกติ เมื่อตรวจวัดปริมาณลมที่ปลายท่อพบว่ายังสามารถรักษาปริมาณการถ่ายเทอากาศได้ 14 ครั้งต่อชั่วโมง สูงกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ที่ 12 ครั้งต่อชั่วโมง
3. พลาสติกที่นำมาใช้ประกอบตู้เป็นพลาสติกตามข้อกำหนดของ วสท. ไม่ลามไฟ เป็น
Food Grade ความหนา 0.5 มิลลิเมตร
วสท. สรุปผลการตรวจสอบและอธิบายการใช้งานให้กับผู้อำนวยการ และบุคลากรทางการแพทย์ทราบจนหมดข้อสงสัย จากนั้นได้พาคณะ วสท. เข้าเยี่ยมชมและขอคำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับห้องผู้ป่วยรวมหลายบริเวณ เพื่อติดตั้งระบบระบายอากาศอย่างถูกต้องสำหรับสถานพยาบาลตามมาตรฐานจนครบถ้วน และโรงพยาบาลจะนำผลการตรวจสอบของ วสท. รายงานต่อผูบังคับบัญชาและโรงพยาบาลในเครือกองทัพบกต่อไป